My default image
×

แบบประเมินความพึงพอใจการใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


Unseen Satun เส้นทางอุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล

Unseen Satun เส้นทางอุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล



Unseen Satun เส้นทางอุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล ภาพบรรยากาศกิจกรรมภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียและอาเซียนใต้ โดยศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.ถนัด คอมันตร์

สันหลังมังกร – หาดหินเหล็ก หาดสันหลังมังกร “ทะเลแหวก” คือคำเรียกขานเกาะแห่งหนึ่งของชาวชุมชนตันหยงโป อ.เมืองสตูล ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์กลางทะเลอันดามัน ในยามน้ำทะเลลดลงเหมือนกระแสน้ำหลีกทางให้สันทรายโผล่ขึ้นมา ซึ่งเป็นสันทรายที่เต็มไปด้วยซากเปลือกหอยนับหลายล้านตัวทับถมกัน ทำให้เกิดเป็นเส้นทางคดเคี้ยวยาวกว่า 3 กิโลเมตร สามารถเชื่อมไปยังอีกเกาะหนึ่งได้ หรือเปรียบเสมือนกับมังกรฟ้าถลาลงเล่นน้ำ ให้เราได้เดินบนสันหลังมังกรที่เคลื่อนไหวพลิ้วตัวอย่างสวยงาม จึงเป็นที่มาของชื่อหาดแห่งนี้ “หาดมังกร” นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเรือหางยาวนำเที่ยวได้ที่ท่าเรือบ้านบากันเคย ต.ตันหยงโป อ.เมืองสตูล ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที และยังสามารถนั่งเรือชมเกาะกวาง เป็นเกาะเล็ก ๆ ซึ่งมีอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวใหม่ที่อยู่บริเวณเดียวกัน คือ หาดหินเหล็ก เป็นแนวหาดหินรูปร่างทรงสี่เหลี่ยมถึงหกเหลี่ยมเรียงรายอัดแน่น กลายเป็นเนื้อเดียวกันรอบเกาะ และยังสามารถแวะสัมผัสวิถีชีวิตชาวเลที่ “ปุเลาอูบี” ได้อีกด้วย

ปราสาทหินพันยอด “ปราสาทหินพันยอด” ตั้งอยู่บริเวณเกาะเขาใหญ่ เป็นเกาะหินปูน มีปลายยอดแหลม ซึ่งเกิดจากน้ำใต้ดินกัดเซาะหินปูนใต้ดินจนเกิดเป็นรูโพรงมากมายและได้ขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ จนเชื่อมกันเป็นโพรงใหญ่ ต่อมาหินปูนถูกยกตัวขึ้นกลายเป็นเทือกเขาหินปูนเกาะเขาใหญ่ เพดานของโพรงถูกน้ำฝนกัดเซาะจนบางลงเรื่อย ๆ กระทั่งรับน้ำหนักไม่ไหวจึงเกิดการยุบตัวลงมากลายเป็นหลุมยุบในภูเขา เกิดเป็นปราสาทหินพันยอดนั่นเอง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา” ประกอบด้วยพื้นที่น้ำทะเล เกาะ ภูเขา พื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล มีภูเขาและหย่อมภูเขาปรากฏอยู่เป็นหัวแหลมตามขอบชายฝั่ง ส่วนพื้นที่ในทะเลประกอบด้วยเกาะที่มีขนาดแตกต่างกันประมาณ 22 เกาะ เกาะส่วนใหญ่มีรูปร่างแปลกตาและมีลักษณะโดดเด่น นอกจากนี้หมู่เกาะเภตรายังมีตำนานเล่าขานที่คนในชุมชนเล่าต่อกันมาตั้งแต่อดีต ชื่อว่า “ตำนานสำเภาเภตรา” ซึ่งเป็นตำนานที่กล่าวถึงการเกิดขึ้นของเกาะเภตรา และเกาะต่าง ๆ โดยรอบ เช่น เกาะสุกร เกาะเขาหินตา เกาะเขาหินยาย เกาะกล้วย เป็นต้น

“ถ้ำเลสเตโกดอน” หรือ “หรือถ้ำวังกล้วย” เป็นถ้ำธารลอดใต้เขาหินปูน มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร โดยน้ำจากคลองวังกล้วยไหลเข้าไปบรรจบกันภายในถ้ำและไหลออกสู่ทะเล จากการสำรวจ พบซากดึกดำบรรพ์ของช้าง แรด กวาง และสัตว์อื่น ๆ สมัยไพลโตซีนในถ้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างโบราณสเตโกดอน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำ นอกจากนี้ยังมีหินย้อยรูปร่างสวยงามแปลกตา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของถ้ำด้วยการพายเรือไปตามลำน้ำภายในถ้ำ และหลังออกจากถ้ำจะต้องต่อเรือประมาณ 30 นาที เพื่อไปขึ้นฝั่งที่ท่าเทียบเรือประมงบ้านท่าอ้อย ซึ่งระหว่างนี้นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับป่าชายเลนในระหว่างทางอีกด้วย

“มานิ” เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ของประเทศไทย ชาวมานิมีภูมิปัญญาที่ได้จากบทเรียนชีวิตจริงตามธรรมชาติที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีองค์ความรู้ปรากฏอยู่ในเครื่องใช้ ยาสมุนไพร ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้สังคมชาวมานิมีภูมิต้านทานอย่างเข้มแข็งและพัฒนามาอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแม้ว่าสังคมโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม ปัจจุบันยังมีชาวมานิหลายกลุ่มอยู่อาศัยในเขตป่าเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรีในภาคใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดสตูลพบกลุ่มชนชาวมานิในเขตอำเภอทุ่งหว้า ละงู และมะนัง

“มหกรรมว่าวประเพณีและว่าวนานาชาติจังหวัดสตูล” จัดขึ้น ณ สนามบินกองทัพอากาศจังหวัดสตูล ทั้งนี้เพื่อต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ภายในงานประกอบไปด้วยการจัดแสดงว่าวจากชมรมต่าง ๆ ในประเทศไทย และต่างประเทศไม่น้อยกว่า 36 ประเทศทั่วโลก เทศกาลว่าวไฟ เทศกาลอาหารสยามอันดามันและอาหาร 14 จังหวัดภาคใต้ มหกรรมยานยนต์ การแสดงของศิลปินนักร้องและกิจกรรมบันเทิงอีกมากมาย

#ASEANStudiesTourism

#ปราสาทพันยอด

#เที่ยวชุมชน

#SatunGeopark


Media



More Videos    More Pictures